รีวิว ROG AllY เครื่องเล่นเกมพกพาประสิทธิภาพสูงบนระบบปฏิบัติการ Windows รุ่นแรกจาก ASUS

ASUS ROG ALLY เครื่องเล่นเกมพกพาที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Windows รุ่นแรกของ ASUS และเป็นรุ่นแรกของโลกที่ได้ชิปเซ็ต AMD Ryzen Z1 Extreme ในการประมวลผลด้วย ดังนั้นหลายคนจึงคาดหวังในเรื่องของประสิทธิภาพการเล่นเกมที่ทำได้ดีกว่า SteamDeck ที่เป็นคู่แข่งหรือไม่

ตลอดจนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานจากการเล่นเกมไปเป็นการทำงานเป็นอย่างไร? ตัวเครื่องสามารถทำได้ไหม และเมื่อนำไปทำงานแล้วใช้งานได้แค่ไหน ขีดจำกัดเป็นอย่างไร เรื่องราวและข้อสงสัยทั้งหมดนี้ ผมขอมาสรุปเป็นเรื่องราวประสบการณ์การใช้งานที่เกิดขึ้นจากการลองใช้เครื่องรีวิวที่ทาง ASUS ส่งให้ผ่านบทความรีวิวนี้ล่ะกัน แต่ต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมทดสอบการเล่นเกมเป็นหลักนะครับ เรื่องของการใช้งานไม่ได้ทดสอบจริงจังเท่าไรนัก 

สเปกตัวเครื่อง | SPEC

 

  • ระบบปฏิบัติการ : Windows 11 Home
  • หน้าจอแสดงผล IPS ขนาด  7 นิ้ว ความละเอียด 1920×1080 (Refresh rate 120Hz, FreeSync Premium)
  • ชิปเซ็ต AMD Ryzen Z1 Extreme (4nm.)
  • GPU Radeon RDNA 3
  • RAM 16GB LPDDR5 on board
  • ROM 512GB PCIe® 4.0 NVMe™ M.2 SSD (2230)
  • พอร์ตเชื่อมต่อ :
    • 1x 3.5mm Combo Audio Jack
    • 1x ROG XG Mobile Interface and USB Type-C combo port (with USB 3.2 Gen2, support DisplayPort™ 1.4)
    • 1x UHS-II microSD card reader (supports SD, SDXC and SDHC)
  • เครือข่ายการเชื่อมต่อ : Wi-Fi 6E(802.11ax) (Triple band) 2*2 + Bluetooth® 5.2
  • รองรับ AURA Sync
  • ระบบเสียง :
    • AI noise-canceling technology
    • Hi-Res certification
    • Dolby Atmos
    • Built-in array microphone
    • 2-speaker system with Smart Amplifier Technology
  • แบตเตอรี่ 40WHrs, 4S1P, 4-cell Li-ion

อุปกรณ์ภายในกล่อง | UNBOX

 

  • ตัวเครื่อง ROG Ally สีขาว
  • คู่มือการใช้งานและการรับประกันตัวเครื่อง
  • อแดปเตอร์ชาร์จ AC 65W พร้อมสายชาร์จ USB-C ในตัว
  • สายไฟสำหรับต่อเข้ากับอแดปเตอร์และปลั๊กไฟ
  • ฐานตั้งตัวเครื่อง

รอบตัวเครื่อง | DESIGN

 

ROG Ally ทาง ASUS ออกแบบมาภายใต้หลัก “Effortless Control” คือการจัดวางปุ่มและแผงควบคุมทั้งหมดไว้ในตำแหน่งครึ่งบนของตัวเครื่อง เพื่อความเหมาะสมกับการใช้งาน ด้านหน้าตัวเครื่องจะมาพร้อมหน้าจอแสดงผล IPS ขนาด 7 นิ้ว ความละเอียดระดับ FHD อัตราส่วน 16:9 มีค่า Refresh rate 120Hz ตัวหน้าจอจะรองรับการสัมผัสสั่งการได้สูงสุด 10 จุด และมีค่า Respone time 7ms น้ำหนักตัวเครื่องรวมประมาณ 608 กรัม

คุณสมบัติหน้าจอแสดงผลเพิ่มเติม

  • glossy display
  • sRGB:100%
  • Adobe:75.35%
  • Gorilla® Glass DXC (สารเคลือบลดการกระท้อนของแสง)
  • Gorilla® Glass Victus™
  • Brightness:500nits
  • FreeSync Premium

ด้านหน้าของตัวเครื่องจะถูกบิ้วอินลำโพง Smart Amp แบบยิงคู่ด้านหน้าพร้อม Dolby Atmos ช่วยเพิ่มระดับเสียงที่เสมือนจริง โดยทำงานร่วมกับระบบตัดเสียงรบกวน AI แบบสองทาง ที่จะประมวลผลเสียงทั้งขาเข้าและขาออกเพื่อกรองเสียงรบกวนพื้นหลังที่รบกวนจากการแชทด้วยเสียงได้ด้วยครับ ทำให้เราสามารถคุยกับทีมระหว่างเล่นเกมได้ชัดขึ้นเวลาเล่นที่บ้านหรือในพื้นที่ที่มีเสียงรบกวน จากที่ลองถามเพื่อนที่เล่นด้วย ฝั่งโน้นยืนยันว่าเสียงเราชัดนะ แม้เสียงพื้นหลังเราจะมีเสียงคนคุยกันดัง

ขยับมาที่ด้านซ้ายของหน้าจอจะมีตัวคันโยกบังคับ Analog Sticks พร้อมวงแหวนไฟ RGB, ปุ่มกด D-Pad, ปุ่ม View button และปุ่มเมนู Armoury Crate button 

ส่วนด้านขวาของหน้าจอจะมีปุ่มกด X,Y,A,B, คันโยกควบคุม Analog Sticks, ปุ่ม Command Center button และปุ่ม Menu button

ที่ขอบตัวเครื่องด้านบนขวา มีปุ่ม R Trigger, ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง, ไฟแสดงสถานะ และปุ่มเพิ่มลดเสียง

ที่ขอบตัวเครื่องด้านบนซ้าย มีปุ่ม L Trigger, รูเสียบชุดหูฟัง, ช่อง UHS-II microSD card reader (รองรับ SD, SDXC and SDHC), พอร์ต USB-C และ ROG XG Mobile Interface

ด้านหลังตัวเครื่องจะมีช่องระบายอากาศเป็นโลโก้ ROG พร้อมปุ่มกด L & R Macro Button เป็นปุ่มเสริมที่เราสามารถตั้งค่าเพิ่มได้ว่าจะให้ใช้ทำอะไร

ผิวสัมผัสของตัวเครื่องด้านหลังจะมีความขรุขระ ซึ่งเกิดจากทาง ASUS นำสามเหลี่ยมขนาดเล็กนับหมื่นมาวางไว้รอบเครื่อง โดยเรียกการออกแบบนี้ว่า “Slip-resistant” มีจุดประสงค์ในการเพิ่มความกระชับเวลาถือจับใช้งานนั่นเอง

ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Windows 11 | SOFTWARE

 

เริ่มกันที่ไฮไลต์สำคัญที่ทำให้ ROG ALLY ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก กับการทำงานบน Windows 11 Home ซึ่งทำให้เจ้าอัลลายมีความหลากหลายในการใช้งานเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในมุมของการเล่นเกม ที่คุณจะสามารถเล่นเกมผ่านแพลตฟอร์มเกมที่คุ้นเคยบน PCs อย่าง Steam, Xbox, Epic Games หรือแม้แต่ Origin Store ก็สามารถเล่นได้เช่นกันครับ

และนอกจากการเล่นเกมผ่านแพลตฟอร์มเกมที่คุ้นเคยบน PCs ในภาคของการใช้ทำงาน เช่น Microsoft Office, Google Chorme Browser หรือแม้แต่เขียน Code โปรแกรมที่ไม่รันเทสหนักมากก็สามารถทำได้ทั้งหมดที่ว่ามาครับ เพียงแต่ถึงแม้เจ้า ROG Ally จะรองรับการแตะสัมผัสหน้าจอ มีคีย์บอร์ดแบบทัชให้ใช้งาน แต่แนะนำว่าถ้าจะให้ทำงานได้สะดวกจริง ๆ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เสริมอย่าง เมาส์ คีย์บอร์ด และจอแสดงผลสำหรับต่อเสริม ก็จะลงตัวมาก ๆ

การเล่นเกม | PLAY GAMES

 

ANY GAMES ANY WHERE

น่าเสียดายที่ตอนได้เครื่องมาผมไม่ได้ตัวเชื่อมต่อ “XG Mobile” ที่เป็นอุปกรณ์เสริมของ ROG Ally ในการต่อเมาส์, คีย์บอร์ด หรือหน้าจอแสดงผลมาด้วย เลยไม่ได้ทดสอบการใช้งานจริงให้ได้ดูกัน แต่ก็อยากบอกว่าเจ้าอัลลายเขามีอุปกรณ์เสริม

ที่ทำให้เราสามารถเปลี่ยนเครื่องเล่นเกมพกพาเป็น Mini PCs สำหรับตั้งฐานเล่นเกมจริงจังได้ด้วย ผ่านตัวเชื่อมต่อ XG Mobile ที่รองรับการเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ภายนอกสำคัญอย่าง พวกคีย์บอร์ด เมาส์ หรือจอคอม (รองรับการแสดงผลสูงสุด 4K) ได้ แนะนำให้ซื้อเลยครับ

Armoury Crate SE (Spacial Edition)

Signature ที่ทำให้ ROG AllY มีความเป็นเอกลักษณ์ในด้านของการเล่นเกมเฉพาะทางเลย ก็คือ “Armoury Crate SE” ซอฟต์แวร์อินเทอร์เฟซสำหรับการเล่นเกมโดยเฉพาะที่เรามักจะเห็นบนอุปกรณ์เล่นเกมของ ROG เสมอ ซึ่งรอบนี้ ROG Ally ก็ไม่พลาดที่จะถูกใส่มาด้วยเช่นกัน โดย Armoury Crate SE จะเป็นเหมือน Library ที่รวมเกมจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ มาไว้ที่เดียว เพื่อสะดวกต่อการเรียกหรือเปิดเล่น 

นอกจากนี้ในตัวของซอฟต์แวร์ยังมีการทำ Command center และเมนูการตั้งค่าเฉพาะแยกมา เพื่อเราสามารถตั้งค่าการใช้งานตัวเครื่องให้เป็นไปตามที่เราต้องการ รวมถึงตั้งค่าปุ่มกดต่าง ๆ ให้เป็นตามความถนัดของเราแต่ละเกมได้ด้วย ซึ่งเมนูถูกออกแบบให้เข้าใจง่ายและเรียกใช้งานได้ตลอดเวลาจากปุ่มกดลัดที่อยู่ที่ด้านหน้าตัวเครื่อง

Perfermance

ในด้านประสิทธิภาพการเล่นเกม ROG Ally ใช้โปรเซสเซอร์ Ryzen™ Z1 Extreme ซึ่งเป็นชิปเซ็ตสำหรับเครื่องเล่นเกมพกพารุ่นแรกจาก AMD ในการขับเคลื่อนการเล่นเกมบนตัวเครื่อง ด้วยกระบวนการผลิตแบบ 4 นาโนเมตรบนสถาปัตยกรรม Zen 4 และกราฟิก RDNA™ 3 ใหม่ล่าสุด ด้วยเทคโนโลยีการเพิ่มสเกล เช่น FidelityFX™ Super Resolution และ Radeon™ Super Resolution ทำให้ Ally สามารถเพิ่มอัตราเฟรมในขณะที่รักษาคุณภาพของภาพที่ดีไว้ได้

จากที่ทดสอบเล่นเกมหลาย ๆ เกมจากหลายแพลตฟอร์มดู ตัวเครื่องสามารถเล่นเกมได้เกือบทุกเกมที่เล่นบนคอมฯ PCs เลยครับ เพียงแต่ถ้าหากเป็นเกมที่ต้องกราฟฟิกและทรัพยากรตัวเครื่องที่สูง เราจำเป็นต้องปรับโหมดการเล่นเกมให้เหมาะสมด้วย โดยจะมีโหมดให้เลือกปรับเล่นตามความเหมาะสมด้วยกันทั้งหมด 3 โหมด คือ Silent, Performance และ Tubo 

การเลือกโหมดการทำงานให้เหมาะสมกับเกมที่เรากำลังเล่นนั้น นอกจากจะทำให้เล่นเกมนั้น ๆ ได้สนุกแล้ว ยังสร้างความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและการใช้พลังงานแบตเตอรี่บนตัวเครื่องด้วย ซึ่งโหมด Silent จะใช้ไฟอยู่ประมาณ 9 วัตต์ โหมด Performance ใช้ไฟอยู่ที่ประมาณ 15 วัตต์ และใช้ไฟ 25 วัตต์ในโหมด Tubo (หรือ 30 วัตต์เมื่อเชื่อมต่อกับไฟ AC)

จากที่ผมลองเล่นเกม DOTA 2 ผ่าน Steam บนเครื่อง ROG Ally แบบไม่เสียบสายชาร์จ ระยะเวลาเล่นเกมที่ผมทำได้ในโหมด Turbo จะอยู่ที่ประมาณ 1 ชม 15 นาที ก่อนที่แบตเตอรี่จะหมด และเล่นได้ประมาณ 1 ชม. 40-50 นาที ในโหมด Performance ครับ

สำหรับใครที่สงสัยว่า ตัวเครื่อง ROG Ally สามารถเล่นเกมทุกเกมได้อย่างไร เพราะบางเกมดูไม่น่าจะรองรับการเล่นเกมในรูปเครื่องเล่นเกมพกพาแบบนี้ คำตอบคือ ซอฟต์แวร์ที่ทาง ASUS เขาทำมา ทำมาได้ดีมากเลยล่ะครับ เพราะถ้าหากเรากำลังจะเล่นเกมที่ไม่เหมาะหรือไม่รองรับการเล่นในรูปเกมคอนโซล ตัวระบบก็จะมีป็อปอัปเด้งขึ้นมาให้เราเลือกรูปแบบการเล่นเกม ถ้าหากเราเลือกรูปแบบที่ปกติไม่เคยเห็นในเกมที่เราคุ้นเคย อย่างเช่น ผมเลือกเล่น Gamepad Mode กับ Dota 2 ตัวเกมก็ปรับเมนูการใช้งานของเกมให้อัตโนมัติเลยครับ แต่บางเกมก็จะเล่นยากขึ้น

อย่าง Dota 2 พอปรับเป็นรูปแบบ Gamepad mode แล้ว การบังคับตัวละครและปล่อยสกิลจะทำได้ยากขึ้น เพราะเราต้องเลื่อนเคอเซอร์ไปที่ตัวฮีโร่ฝั่งตรงข้ามด้วยคันโยก และกดสกิลผ่านปุ่มกด D-Pad ซึ่งบอกตามตรงว่า ไม่ชินอย่างแรง!! แต่ก็เล่นได้

Cooling

ในด้านของการจัดการความร้อนที่เกิดขึ้นขณะเล่นเกม ทาง ASUS เลือกใส่เทคโนโลยี “Zero Gravity Thermal System ROG Ally” โดยได้รับการออกแบบมาสำหรับการเล่นเกมในทุกสถานที่ โดยจะเป็นระบบระบายความร้อนที่ช่วยให้ท่อความร้อนสามารถหมุนเวียนความร้อนออกจากระบบภายในด้วยท่อที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ

ถึงแม้ว่าตัวเครื่องจะเอียงแบบไหนก็ตาม ความร้อนก็ยังคงไหลสู่ด้านนอกในปริมาณที่เหมาะสมและเท่ากันทุกตำแหน่ง จะแตกต่างระบบระบายความร้อนแบบดั้งเดิมที่จำเป็นต้องวางเครื่องไว้ในองศาที่กำหนดเท่านั้นจึงจะสามารถลดอุณหภูมิได้ดี

จากที่ผมลองเล่นเกมด้วยโหมด Turbo ที่เป็นโหมดประสิทธิภาพสูงสุดของตัวเครื่องติดต่อกันต่อเนื่อง ส่วนตัวยังรู้สึกว่าตัวเครื่องยังมีความร้อนเกิดขึ้นในปริมาณมาก หรือก็คือไม่สามารถระบายความร้อนที่เกิดขึ้นในระบบได้ทัน ต้องใช้การเล่นในห้องแอร์ช่วยจึงจะรู้สึกดี ก็อย่างว่าเขาคือมินิคอมพิวเตอร์ยังไงเรื่องของความร้อนก็ต้องมีอยู่แล้วล่ะครับ ก็แนะนำว่าหาเคสพัดลมเสริมจะช่วยได้ดีเลย

การทำงาน | WORK

 

มาในส่วนการใช้ทำงานกันบ้างครับ ในส่วนของการทำงานอย่างที่ผมเกริ่นไปช่วงต้นครับว่า ROG Ally สามารถใช้ทำงานได้ไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์ หรือ โน็ตบุ๊ค Windows เลย เพียงแต่อาจมีข้อจำกัดเรื่องของความสะดวกในการใช้งาน ที่ถ้าหากเราไม่ได้ต่อน้องเขาเข้ากับอุปกรณ์เสริมเพื่อใช้งานร่วมกับเมาส์ คีย์บอร์ด หรือหน้าจอแสดงผลเสริม เราก็จำเป็นต้องใช้ทำงานในรูปสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต ที่ต้องใช้การแตะสัมผัสสั่งการแทนนั่นเอง

บางงานก็สามารถใช้งานได้สบาย แต่บางงานก็บอกเลยว่าจะใช้ในรูปแบบสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตแบบนี้ ก็ไม่สะดวกเอาเหมือนกันครับ แนะนำว่าถ้าใครจะใช้ในรูปแบบนี้ เอาแค่แก้งานไฟล์เอกสารจะเหมาะสมกว่า นอกนั้นส่วนตัวแนะนำต่อเมาส์หรือคีย์บอร์ดช่วยจะคล่องตัวกว่ามากเลย

 

สรุป | Recap

 

ROG Ally เป็นเครื่องเล่นเกมพกพาบน Windows 11 ที่ผมคิดว่า คู่แข่งของเขาก็คือ SteamDeck นั่นแหละครับ ถ้าหากนำมาเปรียบกันแน่นอนว่า เจ้าอัลลายจะได้ความสดใหม่ ดีไซน์ที่ดูสะดุดตา พร้อมกับได้ลูกเล่นในการเล่นเกมจากชุดซอฟต์แวร์ของ ROG ที่เป็นเอกลักษณ์ และนอกจากการเล่นเกมผ่านแพลตฟอร์ม Windows 11 ที่ทำได้ไม่ต่างจากบน PCs แล้ว ในบางสถานการณ์ยังเปลี่ยนใช้ทำงานได้ด้วย และถ้าหากมีอุปกรณ์เสริมครบเซ็ตผมบอกได้เลยว่า น้องเขาคือ “Notebook” ดี ๆ นิเองครับ

ดังนั้นถ้ามองว่า เราซื้อ ROG Ally ประหนึ่งเหมือนเราซื้อ Notebook ที่อาจจะมีข้อจำกัดด้านการใช้งานอยู่บ้าง แต่ก็ได้มาพร้อมกับความสามารถในการเล่นเกมได้ทุกที่ทุกเวลา ส่วนตัวที่เป็นคนชอบเล่นเกมอยู่แล้ว ก็บอกเลยว่าคุ้มครับ และถ้ามีงบเหลือก็จะซื่้อชุดอุปกรณ์เสริมด้วย เพื่อกลายร่างให้น้องเขาเป็น Work Station ของเราได้ทุกที่เช่นกัน

ราคาและโปรโมชั่น | Price & Promotion

 

สำหรับการวางจำหน่าย ROG Ally ทาง ASUS ประเทศไทย วางจำหน่ายในราคา 24,990 บาท โดยถ้าซื้อผ่าน ASUS Online Store ก็จะได้รับส่วนลดเพิ่มอีก 2,000 บาท (มีจำนวนจำกัด) พร้อมกันผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิตได้ด้วย โดยจะเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป 

โปรโมชั่นเพิ่มเติม : รับสิทธิ์แลกซื้อ ASUS ROG Ceta True Wireless Moonlight (White) ในราคาพิเศษ 1,990 บาท จากปกติ 3,990 บาท (ซื้อสินค้าภายในวันที่ 21 ก.ค. – 13 ส.ค. 66)

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://th.rog.gg/M5bNJQ

Leave a Reply

Discover more from InsightDaily

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading